online store
top of page

เฟอร์โร คอนสตรัคชั่น โปรดักส์   

"นวัตกรรมซ่อมแซมที่แตกต่าง"

  • Facebook
  • Instagram
  • Line
  • TikTok
  • Youtube

พื้นโรงงานอุตสาหกรรม พื้นโกดัง: ประเภท คุณสมบัติ และการดูแลรักษา

  • รูปภาพนักเขียน: Ferro Construction Products co., ltd
    Ferro Construction Products co., ltd
  • 3 ก.ย. 2567
  • ยาว 3 นาที

อัปเดตเมื่อ 19 พ.ค.

พื้นโกดังและพื้นโรงงาน คือ ส่วนหนึ่งของโครงสร้างหลักภายในอาคารที่มีความสำคัญอย่างมาก ตามกฎกระทรวงควบคุมอาคารฉบับที่ 6 พ.ศ. 2527 ได้กำหนดให้พื้นโกดัง พื้นโรงงานอุตสาหกรรมต้องมีความมั่นคงแข็งแรง และมีเสถียรภาพ สามารถรับทั้งน้ำหนักบรรทุกคงที่ ซึ่งหมายถึงการกักเก็บและวางสินค้า และน้ำหนักจร ซึ่งหมายถึงการสัญจรไปมาภายในโกดังหรือโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม โกดังหรือโรงงานที่ต่างกันจะมีความต้องการระบบพื้นที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมการทำงาน การเลือกระบบพื้นโกดัง พื้นโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับธุรกิจจึงช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินกิจการได้เป็นอย่างดี


  • ความสำคัญของพื้นโรงงานอุตสาหกรรม

พื้นโรงงานเป็นองค์ประกอบของโครงสร้างโกดังและโรงงานที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากพื้นโกดังหรือพื้นโรงงานถือเป็นพื้นที่สำหรับปฏิบัติงาน ดำเนินการผลิตด้วยเครื่องจักร รองรับการจัดเก็บและเคลื่อนย้ายสินค้าและวัตถุดิบต่าง ๆ พื้นโกดังและพื้นโรงงานจึงต้องมีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน ทนทานต่อสารเคมีและน้ำมัน สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้ดีเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นโกดังหรือพื้นโรงงาน ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีระบบพื้นโรงงานให้เลือกหลายประเภทตามสภาพแวดล้อมและบริบทของโรงงานนั้น ๆ


  • บทบาทของพื้นโรงงานในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความปลอดภัย

ในการทำระบบพื้นโรงงานหรือพื้นโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักต้องมีการปูระบบพื้นหลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้นเพื่อรองรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโรงงาน เนื่องจากระบบพื้นเป็นส่วนที่ต้องรองรับการผลิต รับน้ำหนักเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต สัมผัสกับสารเคมีหรือสารสังเคราะห์ที่ใช้ในการผลิตแทบจะตลอดเวลา จึงต้องมีการทำระบบพื้นให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่อให้พื้นมีความแข็งแรง ทนทาน สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างปลอดภัย โดยพื้นโรงงานอุตสาหกรรมมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติและการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของงานและสภาพแวดล้อม


ประเภทของพื้นโรงงาน

ในการวางระบบพื้นโรงงานนั้น จำเป็นต้องมีการทำระบบพื้นร่วมกับพื้นดินเพื่อช่วยให้พื้นโรงงานสามารถรองรับกิจกรรมการผลิต ป้องกันพื้นดินยุบตัว โดยเฉพาะพื้นโรงงานอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องเลือกระบบพื้นให้เหมาะสม เนื่องจากต้องวางเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีน้ำหนักมากเป็นเวลานาน พื้นโรงงานเหล่านี้จึงต้องออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อให้มีความแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้นาน และเหมาะกับโครงสร้างของสถานที่


  • พื้นคอนกรีต

พื้นคอนกรีตหรือพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปขัดมันคือระบบพื้นโรงงานที่นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นโกดังทั่วไป โดยเป็นการปูพื้นด้วยคอนกรีตและเคลือบทับด้วยสารเคมีเสริมแข็งที่จะช่วยประสานเนื้อคอนกรีตให้มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ ทนต่อแรงกระแทก สามารถรองรับน้ำหนักได้เยอะขึ้น ช่วยป้องกันการสึกกร่อน แตกร้าว ป้องกันพื้นโรงงานรั่วซึม ลดการเกิดฝุ่นจากคอนกรีต โดยการตกแต่งหน้าพื้นผิวคอนกรีตดังกล่าวนี้จะมีลักษณะเรียบ เงา มัน ทำให้ทำความสะอาดได้ง่าย กันลื่น และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก


คุณสมบัติและข้อดี

พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปขัดมันเป็นการเคลือบด้วยสารเสริมแข็งบนพื้นผิวสุดท้าย ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยให้ระบบพื้นแข็งแรง ทนทานขึ้น อีกทั้งลดรูพรุนของผิวคอนกรีต จึงลดโอกาสเกิดการรั่วซึมของของเหลว การฝังตัวของคราบสกปรก คราบน้ำมัน และสารเคมีได้ดี ทนทานต่อการขัด ถู ขูด ขีด รองรับแรงเสียดสีได้ดี ทำให้พื้นคอนกรีตขัดมันเป็นระบบพื้นที่นิยมใช้กับพื้นโกดัง พื้นโรงงานอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังสามารถปรับแต่งสีสัน ระดับความมันวาว และออกแบบให้เข้ากับธุรกิจได้ และที่สำคัญเป็นระบบพื้นที่ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ต้องการการบำรุงรักษามากนัก


การใช้งานในสถานการณ์ต่าง ๆ

ทั่วไปแล้ว พื้นโรงงานอุตสาหกรรมมักมีการใช้งานที่ค่อนข้างหนักและมักต้องสัมผัสกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรง เช่น สารเคมี คราบน้ำมันอยู่เป็นประจำ อีกทั้งมีการสัญจรไปมาค่อนข้างสูง ทำให้พื้นคอนกรีตเป็นทางเลือกพื้นฐานที่ตอบโจทย์ เนื่องจากหน้าคอนกรีตจะผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรง ทำให้ทนทานต่อการเกิดรอยต่าง ๆ รวมถึงการขัดถูและขีดข่วน สามารถทำความสะอาดง่าย โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 10 ปี นอกจากใช้ในระบบพื้นโรงงาน พื้นโกดังแล้ว ยังสามารถใช้กับห้างสรรพสินค้า ลานจอดรถ อาคารสาธารณะได้อีกด้วย

 

  • พื้นอีพ็อกซี่

พื้นอีพ็อกซี่ (Epoxy) คือ ระบบพื้นคุณภาพสูงที่ได้จากการผสมสารสังเคราะห์อีพ็อกซี่ และสารอินทรีย์โพลีเอมีน (Polyamine) นิยมใช้ตกแต่งพื้นโรงงาน ทำให้พื้นโรงงานหรือพื้นโกดังแข็งแรงมากขึ้น รับน้ำหนักได้ดีขึ้น รับแรงอัดกระแทก แรงสั่นสะเทือน แรงดึง แรงเฉือน กันน้ำซึม กันน้ำมันซึม ทนทานต่อกรด ด่าง และสารเคมี การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้ดี อีกทั้งสามารถป้องกันการฝังตัวของคราบสกปรก ป้องกันการเติบโตของเชื้อโรคและแบคทีเรีย และไม่เกิดไฟฟ้าสถิต ทำให้ระบบพื้นอีพ็อกซี่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน


คุณสมบัติและข้อดี

พื้นอีพ็อกซี่มีคุณสมบัติเด่นเรื่องความทนทาน สามารถต้านทานน้ำ น้ำมัน สารเคมี สารทำละลาย กรด ด่างได้ดี อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่น สามารถรับแรงอัดกระแทก แรงสั่นสะเทือน แรงดึง แรงเฉือนได้สูง ทนต่ออุณหภูมิสูง ช่วยปกปิดรูพรุนของผิวคอนกรีต จึงสามารถปกปิดรอยแตกและร่องรอยต่าง ๆ ได้ พร้อมช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้พื้นอีพ็อกซี่ยังทำความสะอาดได้ง่าย ไม่กักเก็บฝุ่น มีสีให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย มีความเงางามสูง สามารถออกแบบปรับแต่งได้ตามต้องการ


การใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ต้องการความสะอาดและปลอดภัย

พื้นอีพ็อกซี่มีข้อดีหลายประการ จึงเหมาะกับการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ต้องการความสะอาดและปลอดภัยทั้งอุตสาหกรรมหนักและเบา เช่น พื้นโกดังที่มีการสัญจรหนาแน่น พื้นโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีและน้ำมันเป็นประจำ พื้นโรงงานอาหารและยาที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่ปลอดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา รวมถึงพื้นโกดังหรือพื้นโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ควรมีไฟฟ้าสถิตเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับวัสดุหรือชิ้นงาน นอกจากนี้เรายังสามารถพบพื้นอีพ็อกซี่ได้ในห้างสรรพสินค้า พื้นที่เชิงพาณิชย์ ลานจอดรถ และโรงพยาบาลได้อีกด้วย

 

  • พื้นโพลียูรีเทน

พื้นโพลียูรีเทน (Polyurethane) หรือ พื้น PU เป็นระบบพื้นที่เคลือบด้วยสารพอลิเมอร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง เมื่อนำมาใช้กับพื้นโกดังหรือพื้นโรงงาน จะทำให้ระบบพื้นมีความแข็งแรง ทนทานเป็นพิเศษ สามารถปกป้องผิวคอนกรีตจากของเหลว เช่น น้ำ ความชื้น และสารเคมี กรด ด่าง อีกทั้งยังทนร้อน ทนแดดได้ดีกว่าพื้นอีพ็อกซี่ แต่ก็มีราคาแพงกว่า โดยมีให้เลือก 3 ประเภท คือ พื้นพียูแบบบาง (หนา 2 มม.) พื้นพียูแบบปานกลาง (หนา 3-4 มม.) และพื้นพียูแบบหนามาก (หนา 5-10 มม.) ซึ่งยิ่งหนามากเท่าไร ก็จะมีความแข็งแรง ทนทาน และมีคุณภาพดีมากขึ้นเท่านั้น


คุณสมบัติและข้อดี

ระบบพื้น PU ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มความทนทานให้กับผิวคอนกรีต โดยช่วยปกป้องผิวคอนกรีตจากแรงกระแทก การสัญจรไปมา การรั่วซึมของน้ำและสารเคมีต่าง ๆ ได้ อีกทั้งยังทนร้อน ทนแดดได้ดีกว่าพื้นอีพ็อกซี่ และที่สำคัญยังช่วยป้องกันคราบสกปรกได้ดี มีความสวยงาม และทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ต้องการการดูแลมากนัก เพียงแค่กวาด ดูดฝุ่น และถู นอกจากนี้ยังสามารถออกแบบหรือปรับแต่งด้วยสีสันที่หลากหลาย พื้นผิวที่มีให้เลือกทั้งผิวมันและผิวด้าน ทำให้มีความทันสมัย ดูสะอาดตลอดเวลา ใช้เวลาในการติดตั้งรวดเร็ว


การใช้งานในสถานการณ์ที่ต้องการความทนทานต่อสารเคมีและความร้อน

พื้นพียูเหมาะกับพื้นโรงงาน พื้นโกดังทั่วไป รวมถึงพื้นโรงงานอุตสาหกรรมประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และยา ห้องเย็น คลังสินค้า พื้นโรงงานที่เปียกตลอดเวลา โดยพื้นพียูมีคุณสมบัติเด่นในด้านความทนทานต่อสารเคมีกรดอินทรีย์ กรดอนินทรีย์ กรดและด่างประเภทต่าง ๆ ทนต่อทุกสภาพอากาศ ไม่ว่าร้อน เย็นชื้น หรือโดนแสงแดดจัด จึงสามารถใช้งานกับพื้นที่ภายนอกอาคารได้ อีกทั้งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราตามรูพรุนหรือรอยร้าวได้ดี โดยเรายังสามารถพบในพื้นโรงอาหาร สนามกีฬา ทั้งในร่มและกลางแจ้ง เช่น สนามบาสเกตบอล สนามลู่วิ่ง สนามเทนนิส สนามแบดมินตัน ไปจนถึงสนามเด็กเล่นได้อีกด้วย


  • พื้นยางและพีวีซี

พื้นยางและพื้นพีวีซี คือ การใช้พื้นยางหรือพื้นพีวีซีปูทับระบบพื้นเดิม โดยยางและพีวีซีมีคุณสมบัติเด่นในด้านการรับน้ำหนักและทนแรงกระแทกสูง มีเนื้อเหนียว ยืดหยุ่น ทนทานต่อการฉีกขาด ขัดถู และทนต่อกรดด่างอ่อนได้ดี มีการถ่ายเทความร้อนต่ำ ไม่ติดไฟ อีกทั้งช่วยป้องกันไฟฟ้าสถิต จึงเป็นทางเลือกในการใช้กับพื้นโรงงานหรือพื้นโกดังที่ต้องการความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยตัววัสดุเองก็มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปราศจากการปนเปื้อนของโลหะหนัก ไม่เกิดอันตรายจากสารพิษตกค้าง ไม่ส่งผลต่อระบบหายใจและผิวหนัง ปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายเกรด ขึ้นอยู่กับความต้องการของอุตสาหกรรมนั้น ๆ


คุณสมบัติและข้อดี

ระบบพื้นยางและพื้นพีวีซีนิยมใช้ปูในพื้นโกดังหรือพื้นโรงงานเพื่อลดโอกาสการลื่นไถล ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่ปฏิบัติงานและลดอุบัติเหตุ ยืดหยุ่นสูง ลดแรงกระแทกได้ดี มีผิวหน้าที่นุ่ม ไม่เกิดอันตรายเมื่อหกล้ม สามารถรับน้ำหนักของสินค้าคงคลังและอุปกรณ์ขนส่ง ทนทานต่อสภาวะอากาศทั้งร้อนและเย็น ทนสารเคมีได้หลายชนิด มีเฉดสีและลวดลายให้เลือกหลากหลาย อีกทั้งเป็นวัสดุที่ดูดซึมน้ำต่ำ ไม่ซึมซับของเหลว ทำความสะอาดได้ง่าย ทนทานต่อการขัดถู ป้องกันพื้นเสียหายจากแรงกระแทก ติดตั้งง่ายและรวดเร็ว ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว ราคาไม่สูงมากนัก มีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน


การใช้งานในสถานการณ์ที่ต้องการการลดแรงกระแทกและป้องกันการลื่น

ระบบพื้นยางและพื้นพีวีซีนั้นมีความยืดหยุ่นสูงมากและสามารถใช้งานในพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ดี เช่น ใช้ปูพื้นโกดัง ปูพื้นโรงงานอุตสาหกรรม ปูพื้นที่ผลิตสินค้า ปูพื้นที่ประกอบสินค้า ปูพื้นที่ที่มีการติดตั้งระบบไฟฟ้า รวมไปถึงบริเวณพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดการติดไฟ โดยสามารถใช้วางเฉพาะจุดที่ต้องการ เช่น จุดที่มีความชื้น เปียกแฉะ หรือมีน้ำขังหรือไหลผ่านตลอดเวลาได้เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ การลื่นไถล รวมถึงช่วยดูดซับแรงกระแทกได้ดีอีกด้วย

 

การเลือกพื้นโรงงานอุตสาหกรรม และพื้นโกดังที่เหมาะสม

การเลือกพื้นโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นโกดังควรพิจารณาจากลักษณะของธุรกิจเป็นหลักเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริง รวมไปถึงกฎเกณฑ์ มาตรฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และยาที่มีระเบียบ ข้อบังคับ และกฎเกณฑ์มากกว่าโรงงานอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี เกิดความคุ้มค่า ลดงบประมาณในการดูแลรักษา ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


  • ประเภทของกิจกรรมและการใช้งาน

โรงงานอุตสาหกรรมแต่ละประเภทมีการใช้งานที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องเลือกระบบพื้นโรงงานให้เหมาะสมตามกิจกรรมและการใช้งาน เช่น พื้นโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารและเครื่องดื่มควรเลือกระบบพื้นโรงงานที่ทนต่อความชื้นและสารเคมีได้ดี รวมถึงไม่ดูดซับฝุ่นละอองหรือเชื้อโรค พื้นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ควรเลือกวัสดุที่มีความแข็งแรงและทนทานต่อการกระแทก พื้นโกดังหรือพื้นโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคทั่วไปที่ต้องรับน้ำหนักวัสดุ วัตถุดิบ หรือสินค้าในปริมาณมาก ควรเลือกพื้นที่แข็งแรงเป็นพิเศษและทำความสะอาดได้ง่าย ทนทานต่อรอยขีดข่วนจากการเคลื่อนย้ายสินค้า เป็นต้น


  • สภาพแวดล้อม (เช่น อุณหภูมิ ความชื้น)

สำหรับพื้นโกดังหรือพื้นโรงงานอุตสาหกรรม อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด ฝุ่นละออง สารเคมีล้วนส่งผลกระทบต่ออายุการใช้งานของระบบพื้นได้ทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเลือกระบบพื้นที่เหมาะกับสภาพแวดล้อมของโรงงานเพื่อยืดอายุการใช้งานของระบบพื้นและทำให้กิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้อุณหภูมิหรือมีความร้อนมาก ควรใช้ระบบพื้น PU ที่สามารถทนความร้อนได้ดี ในโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงโรงงานอาหารและเครื่องดื่มที่ต้องมีการใช้งานเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ จำนวนมาก ควรเลือกระบบพื้นที่มีความแข็งแรง มีความทนทานสูง สามารถรองรับน้ำหนักและแรงกระแทกได้ดี ทนต่อสารเคมี ป้องกันเชื้อรา และลดการสะสมของเชื้อโรค


  • งบประมาณและค่าใช้จ่าย

ระบบพื้นโรงงานหรือระบบพื้นโกดังแต่ละประเภทมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันตามวัสดุที่ใช้เคลือบ ดังนั้น งบประมาณและค่าใช้จ่ายก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาเลือกใช้ระบบพื้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรเลือกระบบพื้นที่ตรงตามความต้องการและสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัย และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาแก้ไขในภายหลัง

 

การเตรียมพื้นที่และการติดตั้งพื้นโรงงานอุตสาหกรรม

การเตรียมพื้นที่และการติดตั้งพื้นโรงงานอุตสาหกรรมเป็นขั้นตอนสำคัญในการวางระบบพื้นที่แข็งแรง เพื่อให้ระบบพื้นสามารถใช้งานได้ยาวนาน ไม่เกิดการยุบตัว ทนทาน สวยงาม และลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาต่าง ๆ


  • การเตรียมพื้นผิว

หากเป็นการติดตั้งระบบพื้นใหม่จะมีขั้นตอนในการเตรียมพื้นผิวไม่ยากนัก แต่หากเป็นการปรับปรุงพื้นใหม่บนพื้นเดิมอาจต้องมีการเตรียมพื้นผิวให้เหมาะกับการติดตั้งซ่อมแซมพื้นใหม่ โดยขั้นตอนนี้จะเน้นไปที่การซ่อมรอยแตกรอยร้าว ทำความสะอาดพื้นผิวให้ปราศจากฝุ่น สิ่งสกปรก เชื้อรา สารเคมี คราบน้ำมัน  ทำระบบกันซึม รวมถึงตรวจสอบว่าระบบพื้นเดิมแข็งแรงพอที่จะติดตั้งระบบพื้นใหม่หรือไม่


  • การปรับระดับพื้น

ในกรณีที่ระบบพื้นเดิมมีปัญหาเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น พื้นมีรอยแตก รอยร้าว พื้นสึกกร่อน พื้นยุบเป็นแอ่ง จำเป็นต้องมีการปรับระดับพื้นและปรับผิวหน้าคอนกรีตเดิมให้เรียบ โดยใช้ปูนปรับระดับ หรือ ปูน Self-Leveling เพื่อช่วยให้ผิวเรียบเนียน เพิ่มคุณภาพพื้นผิวก่อนปูพื้น


  • ขั้นตอนการติดตั้ง

หลังจากพื้นผิวแห้งดีและผ่านการตรวจสอบคุณภาพพื้นหลังเตรียมผิว จะเป็นการติดตั้งระบบพื้นจริงที่จะใช้เป็นพื้นโกดังหรือพื้นโรงงานตามรูปแบบที่ได้เลือกไว้ เช่น ระบบพื้นคอนกรีต ระบบพื้นอีพ็อกซี่ ระบบพื้นพียู หรือระบบพื้นยาง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถกำหนดสเป็กได้ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมของโรงงาน


  • การตรวจสอบคุณภาพและการรับประกัน

ขั้นตอนสุดท้าย ได้แก่ การตรวจสอบคุณภาพและการรับประกันหลังจากที่ได้มีการทำความสะอาดเพื่อล้างสิ่งสกปรกจากขั้นตอนการติดตั้งระบบพื้นโรงงาน จากนั้น ผู้เชี่ยวชาญจะทดสอบคุณภาพพื้นที่ติดตั้งและประเมินผลเพื่อให้แน่ใจว่าระบบพื้นมีความสอดคล้องกับคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น ความหนา สีสัน ลวดลาย เป็นต้น หากผ่านการประเมินจึงจะส่งมอบผลงาน และให้การรับประกันผลงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการแต่ละราย

 

การดูแลรักษาพื้นโรงงาน และโกดัง

การดูแลรักษาพื้นโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นโกดังอย่างเหมาะสม จะสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานระบบพื้นให้ยาวนานขึ้นได้ ทั้งยังทำให้ระบบพื้นมีความสวยงามอยู่ตลอดเวลา


  • วิธีการทำความสะอาด

เมื่อมีการใช้งานพื้นก็ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดรอยเปื้อน คราบสกปรก หรือรอยขูดขีดได้ จึงต้องมีการทำความสะอาดอยู่เสมอ ซึ่งพื้นแต่ละชนิดก็มีวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ระบบพื้นโกดังและพื้นโรงงานส่วนใหญ่สามารถทำความสะอาดได้ไม่ยาก ดังวิธีการดูแลต่อไปนี้


  • พื้นคอนกรีต: พื้นคอนกรีตเป็นพื้นที่มีผิวสัมผัสเรียบลื่น จึงทำความสะอาดได้ง่าย เพียงการกวาดหรือดูดฝุ่น แล้วถูด้วยน้ำยาทำความสะอาดพื้น น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาดันฝุ่น ในกรณีที่มีคราบสกปรกมาก สามารถใช้แปรงไนล่อนขัดออกได้


  • พื้นอีพ็อกซี่: ทำความสะอาดโดยการกวาดด้วยไม้กวาดขนนุ่มหรือดูดฝุ่นเพื่อกำจัดเศษขยะ สิ่งสกปรก ฝุ่นผง สำหรับการถูพื้น สามารถใช้น้ำยาทำความสะอาดพื้นสูตรอ่อนโยน น้ำยาดันฝุ่น หรือน้ำยาทำความสะอาดพื้นสำหรับพื้นอีพ็อกซี่โดยเฉพาะ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของน้ำมัน แอลกอฮอล์ ทินเนอร์ หรือสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เพราะอาจทำให้สารที่เคลือบผิวเสียหายได้


  • พื้นพียู: กวาดหรือดูดฝุ่นพื้นเพื่อกำจัดฝุ่นและเศษขยะ สำหรับการถูพื้น สามารถฉีดล้างด้วยน้ำร้อนเพื่อทำความสะอาด ร่วมกับการใช้ผงซักฟอกสูตรอ่อนโยนหรือน้ำยาทำความสะอาดพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อพื้นพียู PU ในการทำความสะอาดพื้น หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่รุนแรง สารทำความสะอาดที่มีฤทธิ์กัดกร่อน เนื่องจากอาจทำให้สารเคลือบเสียหายได้


  • พื้นยางและพีวีซี: สามารถทำความสะอาดได้โดยการใช้ไม้กวาดขนนุ่มหรือดูดฝุ่นเพื่อกำจัดเศษขยะ สิ่งสกปรก ฝุ่นผง ถูด้วยน้ำสะอาดผสมสบู่อ่อน หรือน้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์อ่อน หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีกรดหรือด่างสูงเนื่องจากจะทำให้สีด่างได้


  • การเลือกใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะสม

ก่อนการทำความสะอาดพื้นทุกประเภท ควรอ่านคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเพื่อเลือกให้เหมาะกับประเภทนั้น ๆ ควรทดสอบการเกิดปฏิกิริยา เช่น การเปลี่ยนสี การลอก การกัดกร่อนในพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน โดยการใช้น้ำยาทำความสะอาดเพียงเล็กน้อยเช็ดเบา ๆ ด้วยผ้านุ่มหรือไม้ถูพื้น หากเป็นน้ำยาสูตรเข้มข้น ควรเจือจางตามอัตราสัดส่วนที่ระบุไว้บนฉลาก เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานระบบพื้นให้ยาวนานและคงความสวยงาม


  • การทำความสะอาดประจำวันและการบำรุงรักษาเป็นระยะ

หากพบคราบสกปรกหรือทำน้ำมัน สารเคมี จาระบี ตัวทำละลายหกลงบนพื้น ให้เช็ดความสะอาดด้วยผ้าสะอาดทันที หลีกเลี่ยงการลากของหนักบนพื้น เนื่องจากอาจทำให้สารเคลือบพื้นเสียหาย ในกรณีที่ต้องวางเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก ควรใช้แผ่นยางหุ้มขาตั้งเพื่อป้องกันรอยขีดข่วน ระวังไม่ให้ของมีคมขูดขีดพื้น เมื่อใช้งานไปได้สักระยะ สารเคลือบหน้าผิวมักเสื่อมคุณภาพลงตามการใช้งานหรือสูญเสียความมันเงา จึงควรทำการเคลือบระบบพื้นใหม่ทุก 6 เดือนหรือ 1 ปีเพื่อรักษาความสวยงาม ทำให้พื้นดูใหม่อยู่เสมอ

 

การซ่อมแซมพื้นโรงงานอุตสาหกรรม และโกดัง

แม้พื้นโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นโกดังแต่ละแบบจะมีความทนทาน สามารถรองรับการใช้งานได้หลากหลาย แต่ระบบพื้นก็อาจเสื่อมสภาพได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้งานเป็นประจำ มีการสั่นสะเทือนจากเครื่องจักร มีการซึมของน้ำหรือของเหลว หรือต้องสัมผัสสารเคมีบ่อย ๆ ทำให้พื้นเสียหาย ส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานและเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้


  • การประเมินและการวิเคราะห์ปัญหา

การประเมินสภาพและวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบพื้นเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้สามารถแก้ไขและซ่อมแซมพื้นโกดังและพื้นโรงงานได้อย่างตรงจุด ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่าเดิม และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำ ๆ หลังการซ่อมแซม


  • การเลือกวิธีการซ่อมแซมที่เหมาะสม

วิธีการซ่อมแซมระบบพื้นมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับลักษณะและสาเหตุของความเสียหาย อย่างไรก็ตามก่อนการซ่อมแซม ควรมีการเตรียมพื้นผิว ทำความสะอาดพื้นที่บริเวณที่จะซ่อมแซมให้สะอาดและแห้ง ปราศจากสิ่งสกปรกเพื่อเพิ่มแรงยึดเกาะและช่วยให้พื้นผิวมีความเรียบเนียน


  • การซ่อมแซมรอยแตกและรอยร้าว

ปัญหาพื้นโรงงาน พื้นโกดังแตกร้าวเป็นปัญหาที่พบบ่อย สาเหตุส่วนใหญ่คือการใช้งานหนัก พื้นผิวมีการเสียดสี แรงกดทับ แรงสั่นสะเทือน หรือมีการสัญจรหนาแน่น ซึ่งสามารถซ่อมแซมได้ด้วยการใช้ปูนปรับระดับพื้นโรงงานเพื่อซ่อมรอยแตก เสริมความแข็งแรงของผิวเดิม ช่วยให้พื้นผิวมีความเรียบเนียน พร้อมสำหรับการเคลือบผิวหน้าในขั้นตอนต่อไป


  • การซ่อมแซมพื้นยุบและเป็นหลุม

สาเหตุของพื้นยุบหรือเป็นหลุมเกิดจากการรับน้ำหนักมาก ๆ เป็นเวลานาน การสัญจรภายในโรงงาน รวมถึงมีของที่มีน้ำหนักมากตกลงบนพื้นโรงงาน หรือแม้กระทั่งการทรุดตัวตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดเป็นแอ่งที่มีน้ำขัง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีนี้สามารถซ่อมแซมได้ด้วยการใช้ปูนปรับระดับพื้นโรงงานได้เช่นกัน ซึ่งจะช่วยปรับระดับพื้นโรงงานให้ได้ระนาบ ทำให้แอ่งน้ำขังให้ตื้นขึ้น ทำให้ผิวมีความสวยงามยิ่งขึ้นหลังเคลือบพื้นใหม่


  • การเคลือบพื้นใหม่เพื่อความทนทาน

เมื่อซ่อมแซมรอยแตก รอยร้าว และปรับระดับพื้นด้วยปูน Self-leveling เรียบร้อยแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนการเคลือบพื้นใหม่ ซึ่งมีหลายประเภทตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยในการเลือกทำระบบพื้นใหม่ ผู้ประกอบการควรเลือกใช้บริการกับผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อคืนชีพให้พื้นโกดังและพื้นโรงงานมีความสวยงาม ยืดอายุการใช้งาน และสามารถรองรับกิจกรรมทางธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 

การเลือกผู้ให้บริการพื้นโรงงานอุตสาหกรรม และโกดัง

การเลือกผู้ให้บริการพื้นโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นโกดังที่ดีจะทำให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งช่วยประหยัดงบประมาณในระยะยาว ทำให้การทำระบบพื้นใหม่มีความคุ้มค่า โดยในการเลือกผู้ให้บริการพื้นโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นโกดังต้องดูจากปัจจัยดังนี้


  • ประสบการณ์และความชำนาญ

ผู้ให้บริการที่มีประสบการณ์มักมีความเชี่ยวชาญในการทำระบบพื้นโรงงานและพื้นโกดัง สามารถให้คำปรึกษาและบริการได้อย่างครอบคลุมทุกปัญหา สามารถส่งมอบผลงานที่มีคุณภาพ ตรงตามโจทย์ ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นโกดังหรือพื้นโรงงานอุตสาหกรรมได้ตรงจุด


  • การรับประกันและบริการหลังการขาย

ผู้ให้บริการพื้นโรงงานอุตสาหกรรมและพื้นโกดังมีมาตรฐานในการทำงาน มักมาพร้อมกับการรับประกันผลงานและบริการหลังการขายที่ดีเพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลงานที่ได้คุณภาพ ในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น ผู้ประกอบการก็สามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลและซ่อมแซมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย


  • ความเชื่อถือและรีวิวจากลูกค้า

การตรวจสอบรีวิวจากลูกค้าเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำอย่างมาก เพราะยิ่งมีการพูดถึงผู้ให้บริการมากเท่าไรก็จะช่วยการันตีความน่าเชื่อถือได้มากเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรีวิวด้วยรูปภาพ ข้อความ หรือคลิปวิดีโอสั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมีความมั่นใจและสามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม


  • การตรวจสอบใบอนุญาตและมาตรฐานการทำงาน

ผู้ให้บริการที่ดีควรมีระบบและมาตรฐานการทำงานที่เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งสามารถตรวจสอบจากใบอนุญาตและมาตรฐานการทำงาน รวมถึงการจดทะเบียนบริษัทเพื่อแสดงถึงความน่าเชื่อถือในด้านกฎหมายและได้ผลงานตรงตามมาตรฐานจริง

 

สรุป

พื้นโรงงานและพื้นโกดังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ใช้สำหรับปฏิบัติงาน วางเครื่องจักร รองรับเคลื่อนย้ายสินค้า ฯลฯ ดังนั้น พื้นโกดังและพื้นโรงงานต้องมีความแข็งแรง ทนทานต่อการใช้งาน เพื่อให้พนักงานสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและปลอดภัย


  • ความสำคัญของการเลือกพื้นโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสม

การเลือกพื้นโรงงานอุตสาหกรรมควรเลือกให้เหมาะกับกิจกรรมการผลิตและลักษณะการทำงาน รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในโรงงานหรือโกดังเพื่อให้สามารถรองรับการใช้จริงได้ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การลื่นล้มหรือการสะดุด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อพนักงาน กิจการ และผู้ประกอบการ ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนพื้น ทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ตลอดจนช่วยสะท้อนถึงการเอาใจใส่และเสริมภาพลักษณ์ขององค์กร


  • ข้อเสนอแนะในการดูแลรักษาและซ่อมแซมพื้นโรงงานเพื่อการใช้งานที่ยาวนานและมีประสิทธิภาพ

การดูแลรักษาและซ่อมแซมพื้นโรงงานเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานของระบบพื้น ลดความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุ และเพิ่มประสิทธิภาพในกิจกรรมการผลิต การดูแลรักษาและซ่อมแซมพื้นโรงงานมีแนวทางดังนี้


  • ทำความสะอาดพื้นอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรก ซึ่งอาจทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ

  • หากมีสารเคมี น้ำมัน สารทำละลาย กรด ด่างหกลงบนพื้น ควรรีบเช็ดทำความสะอาดทันที

  • ตรวจสอบสภาพพื้นเป็นประจำเพื่อหาร่องรอยความเสียหาย เช่น รอยแตก รอยขีดข่วน หรือการเสื่อมสภาพ

  • หากพบรอยแตกและรอยขีดข่วน ให้รีบซ่อมแซมรอยแตกและรอยขีดข่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่าเดิม

  • เคลือบระบบพื้นด้วยสารกันลื่นหรือเคลือบป้องกันสารเคมี เพื่อเพิ่มความทนทานและยืดอายุการใช้งานทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี

  • ส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาพื้นเพื่อป้องกันความเสียหาย

 
 
bottom of page